A Legacy of Nai Lert

พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร)

22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 - 15 ธันวาคม 2488

พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร)

ประวัติ


นายเลิศ เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายชื่นและเป็นหลานของหลวงประเสริฐวานิช (แย้ม) ซึ่งนายเลิศได้ถือกำเนิดในเดือนปีพ.ศ. 2415 อันเป็นปีต้นรัชกาลที่ 5 นายชื่นผู้เป็นบิดาตั้งชื่อให้ว่า "เลิศ" คล้องจองกับพี่ชายผู้มีอายุอานามห่างกัน 4 ปีชื่อ "ลัด" นายชื่นได้นำวันเดือนปีเกิดไปให้พระอาจารย์ที่เคารพนับถือที่วัดเชิงเลนผูกดวงให้ ด้วยดวงชะตาที่กล้าแข็งและเป็นที่รักของบิดามาก จึงได้ให้สร้อยต่อท้ายชื่อว่า "เลิศสมันเตา" อันเป็นคำแผลงมาจากภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า ดีเลิศเหนือสิ่งที่อยู่โดยรอบหรือดีเหนือใคร ดีไม่เหมือนใคร

ในปี พ.ศ.2468 นายเลิศได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภักดีนรเศรษฐ ซึ่งแปลว่า "เศรษฐีผู้มีคนรัก" นายเลิศเป็นที่จดจำในฐานะนักธุรกิจผู้มีความคิดก้าวล้ำนำสมัยไม่เหมือนใครและได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมและมีความเฉียบคมทางธุรกิจอย่างหาตัวจับได้ยาก เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในสังคมไทยซึ่งมีความสำคัญที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย

พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร)

ตั้งแต่กิจการน้ำหวานโซดาหรือน้ำมะเน็ด โรงน้ำแข็งแห่งแรงของสยาม การสร้างอาคารพาณิชย์ 7 ชั้นสูงที่สุดแห่งแรกและเปิดกิจการเป็นห้างนายเลิศบนถนนเจริญกรุง โรงแรม Hotel de la paix โรงแรมแห่งแรกที่เจ้าของเป็นคนไทยไม่ใช่ฝรั่งและให้บริการอย่างดีมีมาตรฐานไม่แพ้ฝรั่งเลย นอกจากนี้นายเลิศยังเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายจักรเย็บผ้าซิงเกอร์เป็นคนแรก นำเข้ารถยนต์จากยุโรปและอเมริกา รวมถึงริเริ่มกิจการเรือเมล์รวมทั้ง รถเมล์ขาวนายเลิศ อันเป็นรถโดยสารประจำทางสายแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งได้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การสัญจรของไทยไปอย่างสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพลังความคิดสร้างสรรค์ของนายเลิศผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์กว้างไกลและมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ก่อนเวลาเสมอ

พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายเลิศได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ทิ้งอาณาจักรธุรกิจไว้ให้ภรรยาผู้เป็นที่รัก คือคุณหญิงสิน สกุลเดิมเตวิทย์ และบุตรีผู้เป็นทายาทเพียงคนเดียว คือท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ หลักการดำเนินชีวิตของนายเลิศได้ส่งผ่านทายาทจากรุ่นสู่รุ่น ดังปรากฏในตราสัญลักษณ์ขนมกงของนายเลิศ อันหมายถึงพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน